สาเหตุของริ้วรอยบนใบหน้า1-4

aging-banner

ความเสื่อมโทรมของใบหน้า เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ ช่วงอายุที่เริ่มเกิดปัญหาความเสื่อมนี้ อาจเร็วช้าแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเพศ เชื้อชาติ พันธุกรรม และ การใช้ชีวิต(life style)ของแต่ละบุคคล โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับใบหน้าของเรานั้น มีทั้งปัจจัยจากภายนอก และ จากภายในร่างกาย

ซึ่งปัจจัยจากภายนอกนั้น เกี่ยวข้องกับการโดนแสงแดด การมีกิจกรรมกลางแจ้ง การอาศัยอยู่ในสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ รวมถึงเรื่องประเภทของอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน และ การดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่1,4

ส่วนปัจจัยจากภายในร่างกาย เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับพันธุกรรม เชื้อชาติ และโครงสร้างกายวิภาคของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ชาย มีผิวหนังที่หนาและมันกว่าผู้หญิง คนอ้วนจะมีชั้นไขมันที่ใบหน้ามากกว่าคนผอม โครงสร้างของกระโหลกศีรษะและลักษณะของผิวหนังที่แตกต่างกันในคนผิวสีคล้ำ (เช่นคน African) คนลาตินอเมริกา (Latin American) คนผิวขาว (Caucasian) และคนเอเชีย (Asian)1,3

นอกจากนี้คนที่ชอบแสดงอารมณ์ทางสีหน้าบ่อยๆ (facial expression) เช่น ขี้หงุดหงิด โมโหง่าย ก็มักจะขมวดคิ้วบ่อยๆโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดริ้วรอยบริเวณหัวคิ้วได้ง่ายชึ้น เช่นเดียวกับคนที่ชอบเลิกหน้าผากบ่อยๆ ก็จะมีริ้วรอยบริเวณหน้าผาก และสุดท้ายคือรอยหางตา หรือ ที่เราคุ้นเคยว่า ตีนกา ก็เกิดขึ้นเวลาที่ยิ้มมากๆ

การเปลี่ยนแปลงของใบหน้าเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น2,5-7

aging-banner

ความเสื่อมตามธรรมชาติของใบหน้าเกิดขึ้นใน 4 บริเวณ ดังนี้

  1. กระดูกบางลง และยุบตัวลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น กระดูกโหนกแก้ม กระดูกเบ้าตา กระดูกแนวขากรรไกร และ คาง ส่งผลให้โครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นตัวค้ำยัน เกิดการทรุดตัวลง2
  2. ส่วนของชั้นไขมัน เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ปริมาณไขมันในส่วนของใบหน้าก็น้อยลงเช่นกัน ตำแหน่งที่เห็นได้ชัด เช่น บริเวณขมับ ลูกแก้ม และแก้มด้านข้าง ซึ่งจะสังเกตได้ชัดในคนที่ผอม จะเห็นขมับตอบ ลูกแก้มทรุดลงจนเกิดร่องใต้ตา และ แก้มด้านข้างตอบลง ส่งผลให้ภาพรวมดูไม่สดใส รวมถึงดูมีอายุมากกว่าความเป็นจริง5
  3. การทำงานของกล้ามเนื้อของใบหน้า ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในระหว่างที่เราพูดคุย รับประทานอาหาร ยิ้มหัวเราะ ร้องไห้เสียใจ หรือ มีความรู้สึกโกรธ ยิ่งมีการใช้งานกล้ามเนื้อส่วนแสดงอารมณ์สีหน้าบ่อยๆ ส่งผลให้เกิดแรงกระทำต่อผิวหนังบริเวณนั้นถูกหดตัวคลายตัวมากๆจนนำไปสู่ริ้วรอยพับย่นของผิวหนัง เช่น รอยย่นหน้าผาก ระหว่างคิ้ว และหางตา6
  4. ผิวหนัง เมื่อเกิดความเสื่อมจะเริ่มเห็นได้จาก ผิวหนังหยาบแห้งกร้านมากขึ้น ผิวบางลงขาดความชุ่มชื้น ความยืดหยุ่นน้อยลงจากคอลลาเจนที่สร้างลดลง นำไปสู่ริ้วรอยบนผิวหนังได้ง่ายขึ้น ปัญหาส่วนของผิวหนังจะพบได้มากขึ้นในคนที่ผิวแห้ง และ ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว7

ความเสื่อมของใบหน้าตามกายวิภาคที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่ได้อธิบายข้างต้น ร่วมกับแรงโน้มถ่วง ทำให้เกิดการไหลเคลื่อนตัวของชั้นต่างๆ ส่งผลให้เกิดการหย่อนคล้อยของแก้ม ต่อเนื่องมาแนวกรอบหน้า และเนื้อส่วนเกินใต้คาง

การเกิดริ้วรอยก่อนวัย4,8-9

การเกิดริ้วรอยก่อนวัย เกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการด้วยกัน

  1. แสงแดด ในชีวิตประจำวันแต่ละวัน สิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ แสงแดด และ ความร้อน ตั้งแต่การเดินทาง การนั่งทำงานใกล้หน้าต่าง การเดินทางกลางแจ้งระหว่างออกไปรับประทานอาหารนอกอาคาร การออกกำลังกายนอกอาคารทุกประเภททำให้ได้รับรังสีอัลตราไวโอเล็ต หรือ รังสี UV จากแสงแดด8
    รวมไปถึงการทำงานอยู่หน้าเตาไฟที่มีความร้อน หรือ ทำงานในสถานที่ที่มีไฟสว่างกำลังสูง เช่น กองถ่ายทำภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือ สนามกีฬา จะได้รับรังสีอินฟราเรด (Infrared) เพิ่มมากขึ้นด้วย 4 โดย รังสี UV และ Infrared จะทำลายในส่วนของผิวหนัง ตั้งแต่ระดับ DNA ของเซลล์ ทำลายคอลลาเจน และ อีลาสติน ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังเสียหาย รวมถึงเกิดการทำลายผิวชั้นบน อาจมีอาการแสบร้อน ผิวหนังแห้งลอกเป็นขุย และมีการสร้างเม็ดสีส่วนเกิน ทำให้เกิดกระฝ้า สีผิวไม่สม่ำเสมอ4
  2. การสูบบุหรี่ เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดการทำลายของคอลลาเจน และ อีลาสติน รวมทั้งยับยั้งการสร้างคอลลาเจนใหม่ ส่งผลให้เกิดริ้วรอยได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะรอบๆริมฝีปาก8
  3. อาหาร การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ผักและผลไม้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มี วิตามิน C, E จะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดภาวะการอักเสบของเซลล์ นอกจากนี้ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมตามวัยได้อีกด้วย9

การรักษาริ้วรอยบนใบหน้า1,5,10

aging-banner

ปัญหาความเสื่อมของโครงสร้างต่างๆบนใบหน้า ส่งผลให้เกิดริ้วรอย ร่องลึก และ การหย่อนคล้อย เริ่มตั้งแต่รอยย่นบริเวณหน้าผาก ระหว่างคิ้ว หางตา, การต่ำลงของแนวคิ้ว และ เปลือกตาบน, การมีขมับตอบ ลูกแก้มทรุด เกิดร่องใต้ตา ร่องแก้ม, การตอบของแก้มด้านข้าง เกิดการหย่อนคล้อยบริเวณแนวขากรรไกรและข้างมุมปาก จนเกิดร่องข้างมุมปาก(ร่องน้ำหมาก), ริมฝีปากบางลง และ ริ้วรอยรอบๆริมฝีปาก รวมถึงคางที่สั้นลง เกิดการหย่อนคล้อยและเนื้อส่วนเกินใต้คาง สุดท้ายคือ บริเวณคอ มีผิวหนังหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอย และเส้นของกล้ามเนื้อต้นคอชัดเจนมากขึ้น1

การวิเคราะห์ปัญหาและวางแผนแนวทางของการรักษา จำเป็นที่ต้องอาศัยความรู้และความชำนาญของแพทย์ เพราะการรักษาในบางบริเวณ อาจต้องใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่กังวลใจและต้องการแก้ไข คือ ริ้วรอยย่นของใบหน้าครึ่งด้านบน (หน้าผาก ระหว่างคิ้ว และ หางตา) ซึ่งเกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อที่ดึงให้ผิวหนัง หดตัวเข้าหากันจนเกิดรอยพับ ถ้ารอยย่นนั้นเกิดขณะที่มีการทำงานของกล้ามเนื้อ เช่น การแสดงสีหน้า มีการเลิกหน้าผากขึ้น การขมวดคิ้ว หรือ การยิ้ม ก็จะเรียกว่า “Dynamic Lines” แต่ถ้าเห็นรอยพับย่นของผิวหนัง ในขณะที่อยู่เฉยๆ โดยไม่มีการขยับของกล้ามเนื้อ ก็จะเรียกว่า “Static Lines”

ริ้วรอยย่นของผิวหนังที่เกิดจากการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณครึ่งหน้าบน สามารถรักษาเพื่อลดริ้วรอยได้ ด้วยการใช้ยาที่เป็นสารสกัด Botulinum Toxin type A ซึ่งจะทำหน้าที่คลายการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้ลดแรงหดตัวของผิวหนัง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นดูเรียบเนียนขึ้น โดยการรักษานี้จะได้ผลดีในกลุ่มที่เป็น Dynamic Lines มากกว่า Static Lines

ดังนั้นจึงแนะนำการดูแลป้องกันริ้วรอย โดยการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเป็นริ้วรอยถาวร

References
  1. Mariwalla K. Rejuvenation of the Upper Face. Available from: https://www.medscape.org/viewarticle/746878_transcript [Accessed December 2018];
  2. Mendelson B, Wong CH. Aesthetic Plastic Surgery. 2012;36(4): 753–760;
  3. Wulc AE, Sharma P, Czyz CN. The Anatomic Basis of Midfacial Aging. In: Hartstein ME, Wulc, AE, Holck DEE. (eds.) Midfacial Rejuvenation. New York, NY: Springer-Verlag; 2012. p.15–28. ISBN 978-1-4614-1006-5;
  4. Szyszkowska B, Lepecka-Klusek C, Koztowicz K, Jazienicka I, Krasowska D. Postpy Dermatologii i Alergologii. 2014;31(3): 174–181.
  5. Tan KS, Oh S-R, Priel A, Korn BS, Kikkawa DO. Surgical Anatomy of the Forehead, Eyelids, and Midface for the Aesthetic Surgeon. In: Massry GG, Murphy MR, Azizzadeh B. (eds.) Master Techniques in Blepharoplasty and Periorbital Rejuvenation. New York, NY: Springer-Verlag; 2011. p.11–24. ISBN 978-1-4614-0066-0;
  6. Carruthers JDA, Glogau RG, Blitzer A, Facial Aesthetics Consensus Group Faculty. Plastic and Reconstructive Surgery. 2008;121(Suppl. 5): 5S–30S;
  7. Tortora G, Derrickson B. Principles of Anatomy and Physiology. 13th ed. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons Inc.; 2012. ISBN 978-0-4705-6510-0. , ISBN 13 978-0470-91777-0.
  8. Farage MA, Miller KW, Elsner P, Maibach HI. International Journal of Cosmetic Science. 2008;30(2): 87‒95
  9. Morita A, Torii K, Maeda A, Yamaguchi Y. Journal of Investigative Dermatology Symposium Proceedings. 2009;14(1): 53–55
  10. Sherman RN. Clinics in Dermatology. 2009;27: S23–S32; 2. Mariwalla K. Rejuvenation of the Upper Face. Available from: https://www.medscape.org/viewarticle/746878_transcript [Accessed December 2018]; 3. The Medical Dictionary by Farlex. Facial anatomy definitions. Available from: http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/ [Accessed October 2018].