aging-banner

Botulinum Toxin คืออะไร

aging-banner

Botulinum Toxin เป็นสารพิษที่สกัดมาจากแบคทีเรียมีชื่อว่า คลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ซึ่งมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ โดย Botulinum Toxin ชนิด เอ ( Botulinum Toxin type A) เป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำมาใช้ในวงการเสริมความงาม โดยมีกลไกการทำงาน คือ ยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทมาที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อไม่หดตัว เพราะ การหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุของริ้วรอยเหี่ยวย่น ดังนั้น Botulinum Toxin จึงทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว สามารถลดริ้วรอยที่เกิดจากการแสดงสีหน้าและริ้วรอยที่เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัวได้ ริ้วรอยที่เกิดขึ้นก็จะลดเลือนไป1

หลังจากทำการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์2 กล้ามเนื้อของคนไข้จะรู้สึกผ่อนคลาย ร่องลึกจะเริ่มคลายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเมื่อเวลาผ่านไปกล้ามเนื้อของคนไข้จะเล็กลง ทำให้ผิวบริเวณนี้เรียบตึงดูอ่อนวัย

กระบวนการผลิต Botulinum Toxin ของผู้ผลิตแต่ละรายจะมีความแตกต่างกัน ส่งผลต่อประสิทธิภาพ ความปลอดภัย การออกฤทธิ์ ปริมาณยาที่ใช้มีความแตกต่างกัน ดังนั้นปริมาณสารลดริ้วรอยของแต่ละยี่ห้อจึงแนะนำให้ใช้ในปริมาณที่แตกต่างกันไป

  • การใช้ Botulinum Toxin เพื่อลดริ้วรอยบนใบหน้า
    การใช้ Botulinum Toxin เพื่อความสวยงาม ใช้การฉีดแบบ Intramuscular injection คือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อที่หดเกร็งมากเกินไป เป็นวิธีฉีดที่ใช้กันบ่อยที่สุดทางคลินิก
    บริเวณที่นิยมใช้ในการลดริ้วรอยบนใบหน้า ได้แก่ รอยย่นระหว่างคิ้ว (glabellar lines) รอยย่นรอบดวงตาหรือรอยตีนกา (crow’s feet) รอยย่นบริเวณหน้าผาก (forehead lines) ชั่วคราวในผู้ใหญ่ ขนาดยาที่ใช้ขึ้นกับจำนวนรอยย่นและความรุนแรงของการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนั้นๆ โดยยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-7 วัน2 และสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 6 เดือน3 เมื่อมีการใช้อย่างต่อเนื่อง
  • ข้อควรรู้ก่อนฉีด Botulinum Toxin
    ก่อนตัดสินใจฉีด Botulinum Toxin สิ่งที่สำคัญ คือ การตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวยาที่จะใช้นั้นเป็นตัวยาที่มีคุณภาพ มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน และผ่านมาตรฐานของหน่วยงานด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา (USFDA) และองค์การยาสหภาพยุโรป (EMA) ก่อนฉีด Botulinum Toxin 2-3 วัน ควรงดการสครับหน้า และขัดหน้าเพื่อลดความเสี่ยงรอยฟกช้ำ ความระคายเคืองและลดผลข้างเคียงที่จะตามมา นอกจากนี้ยังควรหยุดใช้ยากลุ่มกรดวิตามินเอ ที่ทำให้ผิวบอบบาง ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และน้ำมันปลาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และหากตั้งครรภ์อยู่ไม่แนะนำให้ฉีด
aging-banner

การดื้อต่อ Botulinum Toxin3-5

  • อาการดื้อ Botulinum Toxin คืออะไร
    สามารถแบ่งการดื้อต่อ Botulinum Toxin เป็น 2 ประเภท คือ
    1. ประเภทที่ 1 คือการไม่ตอบสนองต่อ Botulinum Toxin ตั้งแต่ทำการรักษาครั้งแรก (Primary Non-Response ) ส่วนมากมักมีสาเหตุจากพันธุกรรมทำให้ไม่ตอบสนองต่อ Botulinum Toxin ดังนั้นการเพิ่มปริมาณสาร Botulinum Toxin จึงไม่ได้ผล
    2. ประเภทที่ 2 คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อเราฉีดสาร Botulinum Toxin เข้าไปในกลุ่มคนที่เคยตอบสนองต่อสารกลุ่มนี้ แต่เมื่อฉีดเข้าไปในครั้งหลังๆ กลับพบว่าเห็นผลน้อยลง หรือไม่เห็นผลเลย (Secondary Non-Response) เป็นภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านBotulinum Toxin เพราะถูกมองว่าเป็นสารแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย โดยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ความถี่ในการฉีดบ่อยเกินไป ใช้ปริมาณ Botulinum Toxin สูงเกินไป เป็นต้น ดังนั้นหากเราเลือก Botulinum Toxin ที่มีคุณภาพและปริมาณยา รวมถึงความถี่ในการรักษาที่เหมาะสม จะทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการสร้าง antibodies จากการใช้ Botulinum Toxin อยู่ในระดับต่ำ6
  • การใส่โปรตีนในสูตรยา Botulinum Toxin ทำให้ดื้อยาจริงมั๊ย
    ปัจจุบันมีคำถามมากมายเกี่ยวกับโปรตีนใน Botulinum Toxin ว่าทำให้ดื้อยาจริงหรือไม่ ซึ่งโปรตีนที่มีความเสี่ยงว่าจะทำให้ดื้อยานั้น ไม่ใช่โปรตีนที่ตั้งใจใส่มาในสูตรยา แต่จะเป็นโปรตีนที่ปนเปื้อนมาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน7 โดยใน 1 ขวดของสาร Botulinum Toxin จะประกอบด้วยสองส่วน คือ สาร core neurotoxin 150 kDa เป็นส่วนที่ไปออกฤทธิ์ ซึ่งจะถูกล้อมรอบด้วยโปรตีนชนิดหนึ่ง (accessory proteins) เพื่อทำให้ Botulinum Toxin มีความคงตัวมากขึ้น เพราะ Botulinum Toxin เป็นสารที่ถูกทำลายได้ง่ายในสภาพแวดล้อมภายนอก และปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าโปรตีนชนิดนี้ทำให้ดื้อยา
  • วิธีป้องกันการดื้อBotulinum Toxin
    1. เลือก Botulinum Toxin ของแท้หรือยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ มีจำหน่ายในท้องตลาดเป็นเวลานาน เพราะจะมีสารท็อกซินบริสุทธิ์มากที่สุด เพราะหากเลือกใช้ยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐานหรือที่มีสารปนเปื้อนมากก็จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านซึ่งเป็นสาเหตุของการดื้อยา
    2. เลือกฉีดในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการที่ฉีดปริมาณที่มากไปหรือฉีดในความถี่ที่เกินความจำเป็น ( มากกว่า 3 เดือนต่อครั้ง ) ก็เป็นสาเหตุให้ดื้อ Botulinum Toxin ได้
    3. เลือกฉีดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เท่านั้น เพราะแพทย์ผู้ฉีดจะช่วยวิเคราะห์ใบหน้ารวมถึงปริมาณการใช้ยาได้อย่างแม่นยำ

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการรักษาด้วย Botulinum Toxin

  • ข้อควรปฏิบัติภายหลังการรักษา
    • เพื่อจำกัดภาวะแทรกซ้อนขอแนะนำว่าอย่าถู หรือนวดบริเวณที่ได้รับการรักษาเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังการรักษา
    • ให้ทำความสะอาดใบหน้าอย่างอ่อนโยน ในเย็นวันนั้นโดยไม่ต้องถูที่ผิวหน้า
    • หลีกเลี่ยงการก้มหน้ามากเกินไป หรือการออกกำลังกายอย่างหนักในวันที่ทำการรักษา
    • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าก่อน ในระหว่าง และภายหลังการรักษา
  • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น2

Botulinum toxin ชนิด A อาจมีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับยาทุกชนิด แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับผลข้างเคียงนี้ ทั้งนี้ ผลข้างเคียงมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกหลังการฉีด และโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว

ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ หนังตาตก ผิวเป็นผื่นแดง กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะที่ และปวดบริเวณใบหน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับการรักษา

อาจมีอาการเช่นเดียวกับขั้นตอนการฉีดยาโดยทั่วไปนั่นคือ มีอาการปวด รู้สึกแสบร้อน รู้สึกเจ็บแปลบ มีอาการบวม และ/หรือ ช้ำ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการฉีด

มีรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของ Botulinum Toxin ออกไปจากบริเวณที่ฉีด ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อยมาก (เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนลำบาก ท้องผูก หรือปอดบวม เนื่องจากสำลักอาหาร หรือของเหลวที่ไม่พึงประสงค์เข้าไปในทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้) จึงไม่แนะนำให้ฉีด Botulinum Toxin ชนิด A ในผู้เข้ารับบริการที่มีประวัติการกลืนลำบาก และมีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน

References
  1. P K Nigam et al.Indian J Dermatol. 2010 Jan-Mar; 55(1): 8–14.
  2. Botox Product package insert. Allergan Ltd. Revised 03/2020.
  3. De Boulle K, et al. Dermatol Surg. 2018;44(11):1437–1448.Steven Bellows and Joseph Jankovic. Toxins 2019, 11, 491
  4. Naumann M, et al. Mov Disord. 2010;25(13):2211–2218
  5. Brin MF, et al. Biologics. 2014;8:227–241.
  6. Naumann M, Boo LM, Ackerman AH, Gallagher CJ. Journal of Neural Transmission (Vienna). 2013;120(2): 275–290
  7. Rahman E, et al. Aesthetic Surgery Journal. 2021. 1-15